Mushroom Travel

ย้อนรอย พระราชา กับ ภาพในหลวง หาดูยาก

ย้อนรอย พระราชา กับ ภาพในหลวง หาดูยาก

วันนี้ มัชรูมทราเวล จะพาไป ย้อนรอยประวัติศาสตร์กับ ภาพในหลวง หาดูยาก ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระองค์ทรงพระราชสมภพ, เจริญพระชันษา, ราชาภิเษก, ผนวช และพระราชพิธีพระบรมศพ มาให้ได้ชมกันค่ะ

เจ้าชายองค์น้อยผู้ไม่คาดคิดว่าจะเป็น พระราชา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น

โดยเป็นพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) โดยมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)

พระองค์มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า “เบบี้ สงขลา” โดยมีชื่อเล่นว่า “เล็ก” ต่อมาได้รับพระราชทานนาม “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช” โดยพระนามภูมิพลอดุลเดชนั้นพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า “Bhumibala Aduladeja” ซึ่งพระนามของพระองค์มีความหมายว่า
● ภูมิพล – ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน”
● อดุลยเดช – อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้”
● เดช หมายความว่า “อำนาจ” รวมกันแล้วหมายถึง “อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้”

เจริญพระชันษาเป็นเจ้าฟ้าผู้มีความเพียร

เมื่อ พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา

พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 4 พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพื่อการศึกษา จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ “โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์” เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระราชา รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 โดยทั้งสองพระองค์ต่างเป็นพระเชษฐาและพระอนุชาที่พระชันษาใกล้เคียงกัน จึงมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก จะสังเกตได้จากภาพถ่ายที่ทั้งสองพระองค์พระวรกายไม่เคยห่างกัน

พิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็น พระราชา รัชกาลที่ 9

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน แต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนนั้น

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ในโอกาสนี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ตามโบราณราชประเพณี

พระราชา ผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง โดยในปีพ.ศ. 2499 มีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวชโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า “ภูมิพโล” หลังจากนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร

ระหว่างที่ทรงผนวช พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถ ทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรม นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

พระราชา เสด็จสวรรคต วันที่คนไทยหัวใจสลาย

นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรก็ไม่ได้ทุเลาลง กลับทรุดลงตามลำดับจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15.52 น. ได้เสด็จสวรรคต ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกถึง 70 ปี สร้างความโศกเศร้าต่อประชาชนชาวไทย รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์ ถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี สำนักพระราชวังมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

โดยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ก็ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพ จากโรงพยาบาลศิริราช ไปยังพระบรมมหาราชวังเพื่อนำไปประกอบพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี ตลอดสองข้างทางขบวนเสด็จฯ มีประชาชนชาวไทยเรือนแสนมาร่วมถวายอาลัยส่งเสด็จ พระราชา ผู้เป็นที่รักและเทิดทูนยิ่ง บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้าเป็นอย่างมาก

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

Cr.krobkruakao.com

หลังจากครบ 1 ปี ของการจากไปของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ซึ่งได้มี กำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 โดยในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 เป็นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และ พระเมรุมาศ ก็ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

ก่อนวันกำหนดการงานพระราชพิธีนี้ ก็ได้มีประชาชนมากมายจากทั่วสารทิศต่างไปเฝ้ารอเพื่อจะได้ชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศตามจุดต่างๆ หลายคนมารอกันข้ามวันข้ามคืนตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม เพื่อที่จะได้ไม่พลาดการเข้าชมในจุดที่กำหนดไว้ แม้มีจะมีฝนตกหนักแค่ไหนทุกคนก็อดทนเฝ้ารอ เพื่อที่จะได้ส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย


ชอบ บทความ มัชรูมทราเวล ทำไงดี…?
1.กดแชร์ต่อ ให้เพื่อนอ่านบ้าง
2. คลิก Likeและติดตามเราได้ที่ Facebook www.facebook.com/mushroomtravel/

—————

Mushroom Travel มีโปรแกรม ทัวร์ ให้เลือกมากที่สุด
โทร. 02-105-6234 (30 คู่สาย)
CustomerService@Mushroomtravel.com
Line id : @mushroomtravel

ย้อนรอย พระราชา กับ ภาพในหลวง หาดูยาก was last modified: October 25th, 2017 by Editor.Mushroom Travel
Exit mobile version